top of page

รีวิวบทความ การเปลี่ยนใหญ่ของมนุษยชาติในโลกหลังโควิด | “การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่” กับ “การเปลี่ยนใหญ่ของมนุษยชาติ” ในโลกหลังโควิด

รีวิวบทความ “การเปลี่ยนใหญ่ของมนุษยชาติในโลกหลังโควิด” โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ในโอกาสงานฉลองครบรอบ 15 ปี ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564



รีวิว: มัสลิน ศรีตัญญู



อาจารย์ประเวศได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลง 2 มิติ คือ “การเปลี่ยนยุค” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด และ “การเปลี่ยนจิตสำนึก” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่ลึกที่สุด ทั้งสองมิติมีความเชื่อมโยงกัน การเปลี่ยนยุคในประวัติศาสตร์มักเกิดจากโลกเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่ สถานการณ์โควิดส่งสัญญาณเตือนรุนแรงว่า โลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตขั้นรุนแรง และเป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่จิตสำนึกใหม่

 

ก่อนยุคโควิด โลกอยู่ในอารยธรรมตะวันตก (Western Civilization) ที่เริ่มต้นเมื่อช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และใช้เทคโนโลยีผลิตเครื่องจักรต่างๆ นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม อีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีทางทหารก็นำไปสู่การสร้างอาวุธสมัยใหม่และเกิดลัทธิล่าอาณานิคม จนทำให้ยุโรปกลายเป็นชาติมหาอำนาจ และแผ่ขยายอารยธรรมตะวันตกไปทั่วโลกดังเช่นในปัจจุบัน



วิกฤตที่ทำให้โลกต้องเปลี่ยนแปลง

 

แม้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้มนุษย์ เป็นต้นว่ามีอาหารเลี้ยงดูประชากรมากขึ้น มีการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า แต่ในทางกลับกันก็นำเราไปสู่วิกฤตด้วย อาจารย์ประเวศสรุปถึงพยาธิสภาพของอารยธรรมตะวันตก 7 ประการ ดังนี้ 1) ประชากรล้นโลกจนเกิดความไม่สมดุลในระบบนิเวศ 2) สิ่งแวดล้อมเสียสมดุลจากลัทธิบริโภคนิยม 3) การกระจุกตัวของประชากรในเมือง ทำให้สังคมเจ็บป่วย 4) ระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเหลื่อมล้ำ 5) โลกกลายเป็นระบบซับซ้อนที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ใช้การแก้ปัญหาแบบแยกส่วนไม่ได้ผล 5) เกิดสงคราม ความขัดแย้ง และความรุนแรงทั่วโลก 6) การเสียสมดุลในตัวมนุษย์จากความป่วยไข้ทางจิตใจ 

 

โลกจึงตกอยู่ในสภาวะเสียสมดุลทุกมิติ ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงการเสียสมดุลในตัวมนุษย์เอง ซึ่งสาเหตุเกิดจาก “ความรู้แบบแยกส่วน” และ “การสูญเสียสำนึกแห่งความเป็นองค์รวม” ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ตามอารยธรรมตะวันตก

 

การแก้ภาวะเสียสมดุลที่ซับซ้อนไม่อาจใช้ความรู้แบบแยกส่วนได้ วิกฤตโควิดครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อปรับสมดุลโลกใหม่ ต้องใช้ “ปัญญารู้ทั้งหมด” คือ “รู้ความจริง”

 

ธรรมชาติ คือความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งหมด (Oneness หรือ One Wholeness) เชื่อมโยงเป็นองค์รวม การแยกส่วนทำให้เสียสมดุล บทเรียนสำคัญที่ได้จากโควิดคือ ทำให้เข้าใจความจริงที่ว่าโลกทั้งใบเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน โลกยุคหลังโควิดจะเป็นยุคแห่งปัญญา การคิดแบบองค์รวม การพัฒนาอย่างสมดุล และความยั่งยืน


 

“สมองตื่นรู้” สู่ความจริง ความดี ความงาม

 

อาจารย์ประเวศกล่าวย้ำว่า การเปลี่ยนใหญ่ของมนุษยชาติในโลกหลังโควิด คือ การตื่นรู้ (Awakening) สู่จิตสำนึกใหม่

 

ตื่นรู้ คือ รู้ความจริงทั้งหมด หรือความจริงสูงสุด นั่นคือปัญญา 

 

“จิตสำนึกใหม่” เป็นจิตใหญ่ที่หลุดออกจากความคับแคบในตัวเอง รับรู้ธรรมชาติตามความ เป็นจริง ธรรมชาตินั้นใหญ่โตไม่มีที่สิ้นสุด จิตที่เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติจึงเป็นจิตใหญ่ 

 

มนุษย์ตามปกติมีจิตเล็ก ถูกกักขังอยู่ในที่แคบเหมือนคนติดอยู่ในคุก คืออยู่กับความเห็นแก่ตัวของตัวเอง เอาตัวกูของกูเป็นตัวตั้ง มีความบีบคั้น ไม่มีอิสรภาพและศักยภาพ ไร้ความสุข ไม่สามารถสัมผัสธรรมชาติตามความเป็นจริงได้ ทำให้คิดและทำแบบแยกส่วน อันนำโลกไปสู่การเสียสมดุล

 

แต่มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่ได้ โดยเปลี่ยนแปลงโปรแกรมเก่าๆในสมอง และแทนที่ด้วยโปรแกรมใหม่ เพื่อใช้ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ คือการขยายจิตสำนึก จากจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่ที่เข้าถึงธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียว

 

ทุกคนสามารถตื่นรู้ได้เพราะมีสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ขนาดเท่ากำปั้นเด็ก อยู่บริเวณหลังหน้าผาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม และการบรรลุธรรม การเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติทำให้มนุษย์มีความสุขอย่างลึกซึ้ง มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างล้นเหลือ และเป็นไปเพื่อความสุข ความงาม และความดี


 

“ไตรยางค์หรือองค์ 3” เครื่องมือขับเคลื่อนสู่ยุคใหม่

 

เช่นเดียวกับข้อเขียนชิ้นอื่นๆ อาจารย์ประเวศจะบอก “how to” หรือวิธีการ เครื่องมือ ที่จะทำให้เราไปถึงปลายทางที่ปรารถนาได้ ในที่นี้คือการเปลี่ยนจิตสำนึกท่ามกลางการเปลี่ยนใหญ่ของยุคสมัย ได้แก่

 

องค์ที่  1: จิตตปัญญาศึกษา: พหุบทสู่จิตสำนึกใหม่

 

ผู้คนทั่วโลกบางคนมีประสบการณ์การเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติด้วยวิธีอันหลากหลาย “จิตตปัญญาศึกษา” เป็นการหลอมรวมวิธีการต่างๆทั้งเป็นศาสนาและไม่ใช่ศาสนา ทำให้คนมีทางเลือกในการฝึกฝนตนเองเพื่อเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติด้วยวิธีต่างๆ การเรียนรู้แนวทางต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “จิตตปัญญาศึกษา” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะและการอยู่ร่วมกันสมดุล และนำมนุษย์ไปสู่ยุคใหม่หลังโควิด จิตตปัญญาจึงเป็นวาระสำคัญของมนุษยชาติ

 

องค์ที่  2: สังคมสมดุล (สัมมาสังคม)

 

การสร้างสัมคมที่อยู่รวมกันอย่างสมดุล ต้องปฏิวัติสัมพันธภาพจากการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น และเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ มาสู่ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ” ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในความสัมพันธ์ ได้แก่ ทำให้รักกันมากขึ้น เกิดความเชื่อถือไว้วางใจ ฉลาดร่วมกัน เกิดปัญญา นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม เกิดพลังฝ่าความยากจนบรรลุความสำเร็จ เกิดความสุขร่วมกันเหมือนดั่งนิพพาน และเกิด “สัมมาสังคม” ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลถูกต้อง เกิดสุขสัมพันธ์ 2) ชุมชนเข้มแข็ง 3) องค์กรและระบบต่างๆมีความถูกต้อง 4) มีความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศถูกต้อง

 

องค์ที่ 3:  กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมหรือ P4 (Participatory Public Policy Process) 

 

“นโยบายสาธารณะที่ดี” และ “การบริหารจัดการนโยบาย” เป็นปัญญาสูงสุดของชาติที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน อาจารย์ประเวศกล่าวถึง “ระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน และขับเคลื่อนด้วยการมีส่วนร่วม” ได้แก่ 1) การสังเคราะห์นโยบาย (ฝ่ายวิชาการ 4 ขั้นตอน)  2) การตัดสินใจทางการเมือง (ฝ่ายการเมือง 1 ขั้นตอน)  3) การบริหารจัดการนโยบายไปสู่ความสำเร็จ (ฝ่ายบริหารจัดการ 7 ขั้นตอน) (ดู เพิ่มเติมใน “คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ”, ประเวศ วะสี, พิมพ์โดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)

 

อาจารย์ประเวศกล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจทางการเมือง แต่อยู่ที่การสังเคราะห์นโยบายและการบริหารจัดการนโยบายไปสู่ความสำเร็จ หากมีการสังเคราะห์นโยบายที่ดี ก็ไม่ยากที่จะเสนอให้นักการเมืองผ่านการอนุมัติในสภา โดยการขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จต้องการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม ทั้งนักวิชาการ นักบริหาร สื่อสารมวลชน ข้าราชการ หรือผู้ปฏิบัติการต่างๆ นักการเมือง ฯลฯ จึงเรียกว่า “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นรูปธรรมของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือ ร่วมสร้างนโยบาย ร่วมตัดสินใจนโยบาย และร่วมขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จ

 


“สามเหลี่ยมเขยื้อนยุคใหม่” สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาฉบับใหม่

 

องค์ทั้ง 3 หรือไตรยางค์ ได้แก่ การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่ การสร้างสัมมาสังคม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม (P4) เชื่อมโยงกันและส่งเสริมกันเป็น “สามเหลี่ยมเขยื้อนยุคใหม่” ซึ่งอาจารย์ประเวศปรับปรุงจากยุทธศาสตร์ใหญ่ฉบับเดิมคือ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงการทำงานขับเคลื่อนสังคม


ข้อแตกต่างสําคัญของ “สามเหลี่ยมเขยื้อนยุคใหม่” และ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” อยู่ที่การเปลี่ยนมุมยอดสุด ของสามเหลี่ยมจาก “การสร้างความรู้ที่ทรงพลัง” มาสู่ “การตื่นรู้สู่จิตสํานึกใหม่” อันเป็นไมตรีจิตอันไพศาล ต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ขณะที่มุมฐานทั้งสองของสามเหลี่ยมก็เน้นยํ้าให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จาก “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เป็น “การสร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล” โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกัน อย่างสมดุลระหว่างคนกับคนและคนกับธรรมชาติ ด้วยความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเกิดได้การเรียนรู้ร่วมกัน ในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง และจาก “การเชื่อมต่อกับอํานาจการเมือง” เป็นการทําให้เกิด “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นปัญญาสูงสุดของชนชาติที่มีผลกระทบต่อทุกองคาพยพของสังคม



สามเหลี่ยมเขยื้อนยุคใหม่


“สามเหลี่ยมเขยื้อนยุค” จะเป็นแกนหรือเพลาที่ดึงการพัฒนาทุกชนิดเข้ามาเชื่อมโยง ประดุจซี่ล้อของกงจักร “ธรรมจักรเขยื้อนยุค”



ธรรมจักรเขยื้อนยุค


แกนหรือเพลาของธรรมจักร ประกอบด้วย การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่ การสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล (สัมมาสังคม) และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม (P4)

 

ซี่ล้อของธรรมจักร คือ การพัฒนาทุกชนิด

 

วงล้อ คือ การสื่อสารที่ทำให้สาธารณะรู้ความจริงโดยทั่วถึง

 

ธรรมจักรที่ครบบริบูรณ์ทุกองค์ประกอบและเชื่อมโยงกันอย่างดี จะเป็นจักรผันที่ทรงพลังและขับเคลื่อนสังคมไปสู่ยุคใหม่ที่สมดุล สันติ และมีสุขภาวะ

 

สุขภาพหรือสุขภาวะบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด (Health is integral in total human and social development) หรือ “สุขภาพคือทั้งหมด” (Health is the whole)

 

และในตอนท้ายของเอกสาร อาจารย์ประเวศกล่าวว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือใหญ่อันทรงพลังที่จะทำให้เกิด “สสส” คือ “สมดุล สันติ และมีสุขภาวะ” คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีปณิธานที่จะสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อคนทั้งมวล (Health for All) และคนทั้งมวลเพื่อสุขภาวะ (All for Health)  สสส.จึงเป็นเครื่องมือของคนไทยที่ใช้เคลื่อน “ธรรมจักรเขยื้อนยุค” เพื่อสร้างโลกยุคใหม่ที่มีสมดุล สันติ และมีสุขภาวะ โดยทุกคนสามารถเป็นนักสร้างสุขภาวะทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ทั้งของตนเอง และเพื่อนมนุษย์

Коментарі


bottom of page