top of page

รีวิวหนังสือ The Consciousness Revolution | การล่มสลายของอารยธรรมตะวันตกสู่การเกิดจิตสำนึกใหม่

หนังสือ: The Consciousness Revolution. Ervin Laszlo, Stanilav Grof, Peter Russell (2003). Elf Rock Productions. Las Vegus.


รีวิว: มัสลิน ศรีตัญญู




ชีวิตมนุษย์แต่ดั้งเดิมเชื่อมโยงสัมพันธ์ผูกพันกับธรรมชาติ และมีเป้าหมายสูงสุดคือการหลอมรวมกับธรรมชาติสูงสุด เมื่อเกิดเทคโนโลยีความเจริญทางวัตถุ ทำให้มนุษย์เริ่มสนใจเรื่องวัตถุมากกกว่าเป้าหมายทางจิตวิญญาณ ในตะวันตกวิทยาศาสตร์กลายเป็นศาสนาใหม่ สิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากกระบวนการพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องงมงายไร้สาระ

 

เมื่อกาลเวลาผ่านไปกว่าสองศตวรรษ โลกตะวันตกก็เริ่มตระหนักได้ว่า ความสำเร็จทางวัตถุไม่ได้ทำให้มีความสุขที่แท้จริง ในทางกลับกัน มันยิ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมากมายและร้ายแรงที่สุด หากความคิดความเชื่อแบบนี้ยังคงดำเนินต่อไป ภาพเลวร้ายที่สุดก็อาจเป็นการสูญสิ้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์

 

นักคิดนักเขียนชั้นแนวหน้า 3 คน ตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้ จึงนั่งลงคุยกันถึงการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่และความท้าทายที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ เออร์วิน ลาสซ์โล (Ervin Laszlo) เป็นนักปรัชญาเชิงระบบ ทฤษฎีวิวัฒนาการ และอนาคตศาสตร์ ส่วนสแตนิสลาฟ โกรฟ (Stanislav Grof) เป็นหัวหน้าโปรแกรมการฝึกฝนการก้าวพ้นตัวตนและเคยเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยจิตเวช และปีเตอร์ รัสเซลล์ (Peter Russell) เป็นนักฟิสิกส์ นักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่สนใจศึกษาปรัชญาอินเดีย การภาวนา และการพัฒนาจิตสำนึกของมนุษย์



โอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติจิตสำนึก


ผู้คนเริ่มตระหนักว่าจิตสำนึกแบบวัตถุนิยมตะวันตกไม่มีความยั่งยืนอีกต่อไป

 

สังคมตะวันตกมีพื้นฐานความเชื่ออยู่บนวิทยาศาสตร์กลไกแบบนิวตัน ซึ่งเห็นว่าสิ่งที่เป็นความจริงคือโลกของวัตถุสสาร ที่สามารถนำมาศึกษาชั่งตวงวัดได้ นั่นทำให้โลกตะวันตกมีความเจริญด้านเทคโนโลยี ผู้คนมีเป้าหมายในการสะสมความั่งคั่งทางวัตถุและมีชีวิตที่หรูหราสะดวกสบาย สังคมตะวันตกบรรลุเป้าหมายความเจริญด้านวัตถุแล้ว แต่ผู้คนกลับไม่ได้มีความสุขอย่างที่เคยคิด พวกเขาเผชิญกับวิกฤตทางจิตวิญญาณที่รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้ความหมาย มีแต่ความซึมเศร้าหดหู่ ผู้คนพยามหลีกหนีความรู้สึกเหล่านี้ด้วยสิ่งเสพสิ่งเสพติดต่างๆ การใช้ความรุนแรงและอาชญากรรม นอกจากปัญหาระดับปัจเจกแล้ว วิถีบริโภคนิยมในอารยธรรมตะวันตกยังทำให้เกิดปัญหาระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนทรัพยากร ประชากรล้นโลก ความอดอยาก ปัญหาเหล่านี้นับวันจะทวีความซับซ้อนรุนแรงมากขึ้นจนเป็นหายนะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้แนวโน้มในอนาคตดูน่าสิ้นหวัง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์

 

ปัญหาเหล่านี้มีต้นตอมาจากวิธีคิดที่ไม่มีความยั่งยืน หากต้องการช่วยโลกและเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้อยู่รอดต่อไปก็ต้องเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่ นั่นคือการแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่าแท้จริง โลกตะวันตกมองหาวิธีคิดแบบใหม่ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960 เป็นยุคบุปผาชนที่สังคมตะวันตกให้ความสนใจมิติทางจิตวิญญาณ ทั้งการภาวนา โยคะ การทำจิตบำบัด และการใช้สารที่ทำให้เคลิบเคลิ้ม มีผู้คนมากมายที่มีประสบการณ์ตื่นทางจิตวิญญาณ (non-ordinary states of consciousness) มีการศึกษาวิจัยที่ศึกษาประสบการณ์การก้าวพ้นตัวตนจากการทำจิตบำบัดแบบต่างๆ การใช้สารที่มีผลต่อระบบจิตประสาท และประสบการณ์ใกล้ตาย ผู้ที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่ นั่นคือการรู้สึกถึงการก้าวข้ามตัวตนที่จำกัดอยู่เพียงกายเนื้อ รับรู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง การมองว่าการตายไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดที่แท้จริง แต่เป็นความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา และใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ มุมมองต่อการตายและเกิดใหม่เช่นนี้สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมในเทพปรณัมกรีกที่มีการเกิดการตายของทวยเทพ และความเชื่อในลัทธิพ่อมดหมอผีที่มีพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงชีวิตเพื่อเชื่อมโยงกับโลกแห่งจิตวิญญาณ

 

แม้ว่าจะมีผู้คนสนใจการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่มากขึ้น มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของสมองและจิตสำนึกมากขึ้น แต่มุมมองแนวคิดนี้ก็ยังเป็นเพียงกระแสรองที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง การมีอยู่ของจิตสำนึกไม่ได้รับการยอมรับในวิทยาศาสตร์กระแสหลัก เพราะวิทยาศาสตร์กลไกแบบนิวตันเชื่อว่าการมีอยู่ของสรรพสิ่งต้องนำมาศึกษาชั่งตวงวัดได้ สิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้จึงไม่มีอยู่จริง ประสบการณ์ทางจิตจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องลึกลับไสยศาสตร์ เป็นความผิดปกติทางจิต หรือเป็นเพียงจินตนาการไร้สาระเท่านั้น  แต่ศาสตร์ด้านจิตวิญญาณดั้งเดิมมองว่าจิตสำนึกเป็นหนึ่งในมูลฐานของการกำเนิดจักรวาลด้วย มีความจริงที่อยู่เหนือไปกว่าการรับรู้แบบปกติ  แนวโน้มของมโนทัศน์แบบใหม่ในอนาคตจะต้องรวมเอามิติจิตวิญญาณเข้าไว้ด้วย

 

เป็นที่แน่นอนว่ามีการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่เกิดขึ้นแล้ว และเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติจิตสำนึกครั้งสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญที่ปราชญ์ทั้ง 3 คนอภิปรายกันก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากพอและรวดเร็วมากพอที่จะช่วยพลิกวิกฤตโลกได้หรือไม่ บางคนก็เห็นว่าหมดหวังแล้ว สายเกินไปที่จะแก้ไขอะไรได้ และควรปล่อยวางหากโลกจะถึงกาลอวสาน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่คาดเดาไม่ได้เกิดขึ้น หรืออาจมีพลังของจิตสำนึกร่วมที่คอยทำงานอยู่เบื้องหลังความคิดและปรากฏการณ์ต่างๆ และสามารถช่วยโลกเอาไว้ได้

 

คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ดูเหมือนจะคลี่คลายประเด็นนี้ไปได้อยู่ที่ปีเตอร์ รัสเซลล์ที่เห็นว่า ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นไปในทางใด หนทางที่เราทำได้ตอนนี้ก็เป็นเส้นทางเดียวกันนั่นคือ การบ่มเพาะความรักความเมตตาให้เกิดขึ้นในโลก ซึ่งต้องกลับมาที่การทำงานภายในตัวเอง นั่นคือการฝึกปล่อยวางความยึดติดในสิ่งต่างๆ การทำงานภายในเป็นสิ่งที่เรารับผิดชอบได้ตอนนี้ ทำโดยไม่แบกความคาดหวังและปล่อยวางผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น สแตนิสลาฟ โกรฟ เสริมว่าหากมีการจัดการบางอย่างที่เอื้อให้ผู้คนได้เข้าถึงประสบการณ์ข้ามพ้นตัวตนได้ง่ายขึ้น นั่นก็จะช่วยให้กระบวนการตื่นรู้เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น



การเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง

 

การหลอมรวมมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ

 

หลังจากการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์วิทยาศาสตร์กลไกลแบบนิวตันมาเป็นวิทยาศาสตร์ควอนตัมแบบไอน์สไตน์ วิทยาศาสตร์กำลังจะเกิดการเปลี่ยนมโนทัศน์ครั้งใหญ่ คือยอมรับการมีอยู่ของจิตสำนึกว่าเป็นมูลฐานของการกำเนิดจักรวาล และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากวัตถุ ซึ่งเป็นความเชื่อแบบปรัชญาโบราณดั้งเดิม นักวิทยาศาสตร์อาจยังไม่ยอมรับความคิดนี้ เพราะวิทยาศาสตร์มีแนวคิดว่าที่ว่าง เวลา และสสารเป็นมูลฐานของการเกิดจักรวาล แต่ไม่มีจิตสำนึกรวมเข้าไปอยู่ด้วย สมมติฐานที่อธิบายความจริงของวิทยาศาสตร์ยังขาดแง่มุมเกี่ยวกับจิตสำนึก นั่นทำให้มันไม่ได้รับการยอมรับในโลกตะวันตก มีคนสนใจบ้างแต่ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าวิทยาศาสตร์กระแสหลักมาก แต่ในท้ายที่สุดโลกวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณจะค่อยๆขยับเชื่อมเข้าหากัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน และอาจเกิดทฤษฎีใหม่ที่อธิบายโลกแห่งจิตและโลกแห่งวัตถุ เกิดการหลอมรวมภูมิปัญญาดั้งเดิมและวิทยาศาสตร์ขึ้นกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่หมุนวนเป็นเกลียวขึ้นไป

 

ศาสนาและจิตวิญญาณ

 

การจะเชื่อมโยงจิตวิญญาณเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้ จะต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างศาสนาและจิตวิญญาณ จิตวิญญาณเป็นเรื่องของประสบการณ์ตรงที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับจักรวาล ไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการเข้าถึงความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ ใช้ธรรมชาติและร่างกายเป็นเสมือนอารามแห่งการปฏิบัติ อาจมีกลุ่มสังฆะที่ช่วยสนับสนุน แต่ศาสนาเป็นกิจกรรมที่ถูกจัดตั้งขึ้นในสถานที่เฉพาะ การเข้าถึงความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ทำผ่านตัวกลางที่ได้รับมอบหมายและระบบการปฏิบัติเพื่อที่จะมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงมีศาสนาที่ไม่ได้เป็นการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ และก็มีการฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่ไม่ได้อ้างอิงกับศาสนาใด

 

ศาสนาทำให้เกิดความแตกแยก เพราะถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกมากมาย มีทวยเทพที่แสดงถึงความจริงสูงสุดต่างๆกัน พระธรรมคำสอนบางส่วนก็สูญหายไม่ครบถ้วน บ้างถูกตีความและบิดเบือนไปจากความหมายดั้งเดิม การยึดคำสอนตามคัมภีร์ทำให้เกิดความเห็นต่างขัดแย้งกันมากมาย การจนบางครั้งทำให้เกิดสงครามระหว่างศาสนาขึ้น การเชื่อสิ่งใดก็ให้ยึดหลักกาลามสูตร ไม่ใช่เชื่อเพื่อท่องตามกันมาหรือคนอื่นบอก แต่ต้องพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตนเอง

 

โลกจึงต้องการการฝึกฝนทางจิตวิญญาณซึ่งมีแก่นสำคัญอยู่ที่ความรักความเมตตา ตอนนี้มีการฝึกฝนจิตวิญญาณใหม่ๆเกิดขึ้น ผู้คนกลับมาแสวงหาความจริงสูงสุดซึ่งเป็นแก่นของทุกศาสนาอีกครั้ง เหมือนเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูทางจิตวิญญาณ โลกอนาคตจะเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว และอาจเกิดศาสนาสากลขึ้นจากจิตสำนึกรวมหมู่ มีการก้าวข้ามการยึดติดในเทพองค์ต่างๆ และมองว่าเป็นเพียงทางเชื่อมไปยังสิ่งสูงสุด ไมได้เป็นวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง มีการเปลี่ยนมุมมองจากองค์เทพที่อยู่ภายนอกมาเป็นการเห็นว่าเทพต่างๆเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ และพิธีกรรมต่างๆก็ไม่ได้ทำเพื่อบูชาเทพที่อยู่ภายนอก แต่เป็นการทำงานกับจิตใจตัวเอง



จากปัญญาสู่การปฏิบัติ

 

เยียวยาตัวเองและเยียวยาโลก

 

นักคิดทั้งสามคนเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ที่จิตสำนึกของปัจเจกส่งผลต่อจิตสำนึกของคนอื่นได้ มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างโลกภายในและโลกภายนอก เช่น การภาวนาร่วมกันเป็นกลุ่มก็พบว่าคลื่นสมองของแต่ละคนทำงานสอดประสานกัน มีผลการวิจัยที่ศึกษาผลการภาวนาของผู้คนจำนวนมากในเมืองและพบว่าอัตราการก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุ และการนอนโรงพยาบาลลดลง ในอินเดียก็เชื่อว่าการภาวนาของคนกลุ่มเล็กๆหรือของโยคีที่อยู่ปลีกวิเวกตามถ้ำก็ส่งผลต่อผู้คนและสถานการณ์ในโลก หรือในกระบวนการทำจิตบำบัดที่มีการหวนนึกถึงประสบการณ์ตอนเกิดซึ่งเป็นการเข้าถึงจิตไร้สำนึกรวมหมู่ ปรากฏภาพของความรุนแรงโหดร้ายทารุณที่มนุษย์เผชิญมาตลอดในประวัติศาสตร์ ผู้เข้ารับการบำบัดจะมีประสบการณ์ข้ามพ้นตัวตน เกิดความตระหนักว่าความทุกข์ของตนเองนั้นสืบทอดมาหลายยุคสมัย และไม่ใช่ความทุกข์ของตัวเองคนเดียว แต่เป็นความทุกข์ของมวลมนุษยชาติ ดังนั้นการเยียวยาความทุกข์ของตนเองก็เท่ากับเป็นการเยียวยาจิตสำนึกรวมหมู่ด้วยเช่นกัน

 

ในกระบวนการสุนทรียสนทนา นักภาวนามักจะเห็นว่าการทำงานภายในตัวเองอย่างเข้มข้นทำให้โลกเปลี่ยนแปลง ส่วนนักกิจกรรมก็เชื่อว่าต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องทางสังคมจึงจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ เมื่อได้แลกเปลี่ยนทรรศนะกันพบว่า ควรทำทั้งสองมิติควบคู่กันไป เมื่อนักภาวนาทำงานกับตัวเองแล้ว จึงนำเอาปัญญาที่ได้นั้นมาปรับใช้กับโลกภายนอก ส่วนนักกิจกรรมเห็นว่าต้องทำงานภายในตัวเองด้วย เพื่อที่จะทำงานขับเคลื่อนสังคมได้อย่างมีสติ มีประเด็นที่แหลมคม ใช้วิธีการที่ชาญฉลาด และปราศจากแรงขับในจิตไร้สำนึกที่ยังไม่ได้รับการสะสางในตัวเอง

 

เรื่องบังเอิญที่อาจไม่ได้บังเอิญ

 

ความบังเอิญ (synchronicities) เป็นคำที่นักจิตวิทยาคาร์ล จุงใช้เรียกเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล เกิดขึ้นอย่างประจวบเหมาะพอดีอย่างไม่สามารถอธิบายได้ เช่น การเห็นตัวเลขซ้ำๆ การฝันถึงบางสิ่งและได้รับสิ่งนั้นจริงๆ กำลังความต้องการบางสิ่งและก็พบสิ่งที่ต้องการพอดี  รู้สึกว่าจักรวาลคอยช่วยเหลือให้เราทำทุกอย่างได้ราบรื่นลงตัว ความบังเอิญมักจะเกิดขึ้นเมื่อจิตมีความปลอดโปร่งและตั้งมั่นจากการภาวนา หรือมีประสบการณ์ที่ตัวตนเก่าตายไปและเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวิถีการดำเนินชีวิต จากเดิมที่พยายามเอาชนะอุปสรรคเพื่อไปถึงเป้าหมาย เปลี่ยนมาเป็นการอยู่กับปัจจุบันขณะ เหมือนกับการเล่นเซิร์ฟไปบนกระแสคลื่น นอกจากนี้ประสบการณ์ปล่อยวางตัวตนเดิมยังส่งผลต่อสังคมรอบตัวด้วย นั่นคือรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นและต้องการประสานความร่วมมือกับส่วนรวม มีความอดทนอดกลั้น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ ประสบการณ์ความบังเอิญเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องท้าทายในการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และต้องการมโนทัศน์และกรอบความคิดใหม่ๆในการทำงานวิจัยต่อไป



การประยุกต์ใช้ในระดับบุคคล

 

การเปลี่ยนแปลงค่านิยม


ค่านิยมตะวันตกแต่เดิมให้ความสำคัญกับการมีตัวเองเป็นศูนย์กลางและความเป็นปัจเจก แต่การปล่อยวางตัวตนเดิมทำให้ผู้คนให้คุณค่ากับการดูแลใส่ใจผู้อื่นรวมไปถึงสรรพสิ่งในจักรวาล และไม่ยึดติดในสิ่งต่างๆที่ผูกติดกับสถานะตัวตน กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการภาวนาและประสบการณ์ข้ามพ้นตัวตนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนจิตสำนึกอื่นๆ เช่น ประสบการณ์เฉียดตาย การใช้สารที่ทำให้ประสาทหลอน การถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว การบำบัดสิ่งเสพติด หรือการตื่นของพลังกุณฑาลินี เป็นต้น จิตสำนึกของปัจเจกจะขยายใหญ่ขึ้นและเชื่อมโยงกับจิตสำนึกจักรวาล เราสามารถมองความเป็นปัจเจกในฐานะที่เป็นขั้นวิวัฒนาการไปสู่การตื่นสู่สำนึกแห่งความเป็นส่วนรวมได้ โดยการเพิ่มความตระหนักรู้ว่ามนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เป็นจักรวาลย่อยในจักรวาลใหญ่ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้แยกส่วนไปจากความเป็นทั้งหมด มีความเมตตาต่อตัวเองและคนอื่น

 

เป้าหมายในชีวิต

 

ผู้คนในสังคมตะวันตกมีเป้าหมายชีวิตในการสะสมความมั่งคั่งทางวัตถุ บางคนคิดว่างานไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการหาเงินเพื่อดำรงชีวิต ความคิดเช่นนี้ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมาย เพราะจริงๆแล้วเงินไม่ได้เป็นเป้าหมายในตัวเอง แต่เป็นเพียงสื่อกลางไปสู่สิ่งอื่นที่ลึกซึ้งมากกว่า อีกทั้งบรรดาโฆษณาต่างๆคอยกล่อมเราให้เชื่อว่า การใช้เงินซื้อสินค้าและบริการสามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือมีความสุขขึ้นได้ แต่ความจริงความมั่งคั่งไม่ได้ทำให้มีความสุขเสมอไป คนรวยมากมายยังคงมีวิตกกังวลและเต็มไปด้วยความทุกข์

 

เมื่อมาถึงจุดที่ตระหนักได้ว่าการซื้อของมากเกินกว่าความต้องการจริงๆไม่ได้ทำให้เป็นคนดีขึ้นหรือมีความสุขมากขึ้น จะเกิดทางเลือกใหม่ที่ต่างออกไป ความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เราสามารถเลือกวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขโดยไม่ยึดติดกับการสะสมวัตถุจนกลายเป็นความทุกข์หากไม่มีสิ่งเหล่านั้น การเลือกทำงานที่มีคุณค่าต่อคนอื่นและรู้สึกเติมเต็มในตัวเองด้วย จะทำให้ชีวิตสมดุลขึ้นและมีเป้าหมายที่ลึกซึ้งขึ้น ถ้าเป็นเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณคือการหลุดพ้นจากความทุกข์นั่นเอง

 

ความคิดที่ให้คุณค่ากับการสั่งสมความมั่งคั่งแบบตะวันตกได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก สิ่งที่ควรกลับมาใส่ใจคือจะเปลี่ยนความคิดค่านิยมนี้ในตะวันตกอย่างไร ให้กลายเป็นตัวอย่างกับทั้งโลกว่าอย่าทำผิดพลาดตามอย่างที่ตะวันตกทำไปก่อนแล้ว ซึ่งก็คือการกลับมาที่การทำงานภายในตัวเองและค่อยๆขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัว ตอนนี้มีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ปลี่ยนแปลงความคิดและตัวตนภายในตัวเองใหม่ ประเด็นสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ เราจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้คนเหล่านี้ได้อย่างไรและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมวงกว้างมากขึ้น นั่นคือการใช้กระบวนการบำบัดทางจิตแบบต่างๆที่มีผลการวิจัยเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถทำให้เกิดประสบการณ์ข้ามพ้นตัวตนได้

 

ภาพวันสิ้นโลก

 

แนวโน้มในอนาคตดูเลวร้าย ทั้งภัยพิบัติ โรคระบาด ระบบนิเวศถูกทำลาย ล้วนเป็นสัญญาณของความเสื่อมถอยของอารยธรรมวัตถุนิยมตะวันตก แต่ในประเทศกำลังพัฒนายังคงดำเนินรอยตามค่านิยมที่สั่งสมความมั่งคั่ง ซึ่งอาจมองว่าเป็นขึ้นหนึ่งในวิวัฒนาการทางสังคมที่จะต้องผ่านไปให้ได้ แต่ทรัพยากรโลกอาจไม่เพียงพอให้ผ่านขั้นนี้ไป จึงได้แต่ฝากความหวังไว้ว่าอนาคตเราจะมีเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนมากขึ้น

 

มุมมองต่อสถานการณ์ที่ดูเลวร้ายมี 2 แบบ บางคนมองให้แง่ดีว่ามีพลังซ่อนเร้นที่ไม่อาจคาดเดาได้คอยช่วยอยู่เหมือนที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ที่กำแพงเบอร์ลินถูกทลายลง และเชื่อว่าเป็นกระบวนเปลี่ยนผ่านโดยธรรมชาติที่เมื่อมาถึงช่วงแห่งความเสื่อมถอยแล้ว จะพบกับการตายไปของสิ่งเดิมๆ ผ่านกระบวนการทำลายล้างตัวเอง และอุบัติสิ่งใหม่ขึ้น ดังเห็นได้จากความเลวร้ายต่างๆที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย เช่น ปัญหาความรุนแรง อาชญากรรม และการบูชาลัทธิซาตานหรือความเชื่อลึกลับแปลกๆ หากผ่านความเสื่อมถอยนี้ไปได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยกระดับจิตสำนึกที่มาจากภายใน และเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่แทนที่วัฒนธรรมตะวันตก

 

อีกมุมมองหนึ่งเห็นว่ากระบวนเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้มีความหวัง แต่มันอาจจะเกิดไม่เร็วมากพอกับวิกฤตที่กำลังเกิด ดังนั้นจึงควรมีการจัดการบางอย่างให้เกิดผู้คนเกิดประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดการปฏิวัติจิตสำนึกได้เร็วขึ้น อาจเป็นการบำบัดจิตแบบต่างๆซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางจิตวิญญาณ การเผยแพร่เทคนิคการฝึกจิตให้สงบที่เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ การให้ความสำคัญกับการสื่อสารอย่างสันติและมีเมตตาหรือมีสัมมาวาจา และการจัดเวิร์คช็อปให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงต่างๆ เช่น เทคนิคหายใจ กระบวนการกลุ่ม นวด โยคะ การเต้น การภาวนา การเดินป่า เป็นต้น



โลกและปัจเจก

 

การเกิด การพัฒนา และการเติบโตไปสู่โลกใบใหม่

 

เราจะบ่มเพาะเด็กๆให้เผชิญกับโลกที่กำลังวิกฤตและเริ่มเข้าสู่การปฏิวัติทางจิตสำนึกได้อย่างไร  อาจเริ่มจากตั้งแต่แรกเกิด โดยการจัดสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลหรือสถานที่ทำคลอดให้มีเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ซึ่งเอื้อให้เกิดความไว้วางใจ ความเมตตา การร่วมมือและประสานพลังกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมตอนเกิดมีผลต่อแนวโน้มพฤติกรรมของเด็กในอนาคต  ในงานจิตบำบัดเห็นว่าประสบการณ์วัยเด็กส่งผลกระทบต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่ เราสามารถใช้องค์ความรู้เหล่านี้ช่วยให้ผู้ใหญ่เยียวยาบาดแผลวัยเด็กได้ แต่ก็สำคัญมากเช่นกันที่จะเรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูเด็กๆด้วยความรักและเอาใจใส่ เพื่อเด็กๆจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีกายและใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ส่งต่อมรดกที่เลวร้ายให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทั้งสามให้ความสนใจก็กลับมาที่การเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ในสังคมวงกว้างได้อย่างไร สื่อมวลชนอาจมีส่วนอย่างมาก แต่การเปลี่ยนแปลงจริงๆเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆที่ทำในสิ่งตัวเองเชื่อมั่น จนบางเรื่องกลายเป็นกระแสหลักไปแล้วอย่างเรื่องอาหารอินทรีย์ที่เริ่มจะคนกลุ่มคนเล็กๆและขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการทำงานกับตัวเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ให้ดีที่สุด และผลกระทบก็จะสิ่งไปถึงสังคมรอบข้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตาม การมองว่าเราต้องเข้าไปทำให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงมาจากการมองตัวเองพิเศษกว่าคนอื่นและพยายามเข้าไปควบคุมสถานการณ์ แต่เราเป็นคลื่นใต้น้ำเดียวกัน และล้วนมีส่วนทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นด้วยกันทั้งนั้น  การทำงานภายนอกที่มาจากมุมมองของตัวตนขั้นสูงหรือจิตไร้สำนึกร่วมก็จะทำให้เราดำเนินไปบนหนทางที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ที่เราทำได้คือการ “เอื้อ” ให้มันเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถ “ทำ” ให้มันเกิดขึ้น ดังเช่นปรากฏการณ์ความบังเอิญ ต่างๆ(synchronicity) ที่เราทำได้เพียงกำหนดจิตสำนึกให้อยู่ในสภาวะที่เอื้อให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้น คล้ายกับการเล่นดนตรีที่สอดประสานกัน แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องฝึกที่จะปล่อยวางความกลัวที่ฉุดรั้งเราไมให้ใช้ชีวิตไปกับกระแสแห่งจักรวาล ผ่านการเยียวยาความเจ็บปวดและบาดแผลภายใน และการแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณ

 

แผนที่ความจริงชุดใหม่

 

จะทำให้คนตะวันตกยอมรับแผนที่ความจริงชุดใหม่ได้อย่างไร จากเดิมที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในความจริงแบบวิทยาศาสตร์กลไกแบบนิวตัน สิ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนความเชื่อได้แน่นอนคือการผ่านประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการตื่นทางจิตวิญญาณ (non-ordinary states of consciousness) หากจะเป็นการเปลี่ยนทางความคิดอาจเป็นการใช้แนวคิดเกี่ยวกับเทพปกรณัม (mythology) ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกอยู่แล้ว ซึ่งนักจิตวิทยาคาร์ล จุง เห็นว่าทวยเทพต่างๆเป็นแม่แบบทางจิตแห่งจักรวาลเดิมแท้ซึ่งอยู่เหนือไปกว่าความจริงระดับวัตถุ ความรู้ด้านโหราศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน

 

เราชาวตะวันออกโชคดีที่ยังมีมรดกความเชื่อทางจิตวิญญาณดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆพ่ายแพ้ให้กับอารยธรรมความเจริญด้านวัตถุที่มาจากตะวันตก ค่อยๆหลงลืมรากเหง้าจิตวิญญาณดั้งเดิมที่หลอมรวมกับธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบ ตัวเสียงสะท้อนจากผู้คนจากโลกที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ทำให้เรากลับมาเห็นภาพหายนะที่กำลังรออยู่ หากจะมีสิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการหันกลับมาเปลี่ยนแปลงโลกภายในตัวเอง และได้แต่หวังว่าคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้จะสามารถพลิกสถานการณ์ให้โลกเรารอดพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้ในที่สุด

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page