หนังสือ: Humankind: A Hopeful History. Rutger Bregman. 2020. Bloomsbury Publishing.
แปลไทย: ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ. ไอริสา ชั้นศิริ. 2564. บิบลิโอ.
รีวิว: มัสลิน ศรีตัญญู
ความเชื่อมีพลังมหาศาล เพราะเป็นตัวกำหนดความคิด การกระทำ และสร้างความจริงของเราขึ้นมา บางคนกล่าวไว้ว่า ความจริงเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเกิดในความคิดและจินตนาการ และอีกครั้งตอนที่ความจริงถูกสร้างให้ปรากฏ พุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับความเห็นชอบหรือสัมมาทิฐิ ที่เปรียบเป็นเข็มทิศนำทางให้สิ่งต่างๆปรากฏขึ้นตามนั้น
นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ชาวเนเธอแลนด์ รุตเกอร์ เบรกแมน สนใจความจริงเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรามักได้ยินเรื่องเล่าถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนและหายนะมากมายที่มนุษย์สร้าง ไม่ว่าสงคราม การกดขี่ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เราสิ้นหวังต่ออนาคตที่มืดมนลงทุกที แต่หนังสือ “ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ” ของเบรกแมน บอกว่า เรายังมีหวังได้ หากเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีงาม ความเชื่อนี้จะทำให้เราเปลี่ยนความคิด การกระทำ และสร้างความจริงชุดใหม่ขึ้น และสุดท้ายโลกจะเปลี่ยนแปลงด้วยการมีศรัทธาต่อความดีงามในจิตวิญญาณมนุษย์
มนุษย์โหดร้ายหรือดีงาม
เบรกแมนพยายามสืบค้นทรรศนะต่างๆที่อธิบายสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ มีความเห็นหลักๆแตกเป็นสองฝ่าย นักปรัชญาโธมัส ฮอบส์ เชื่อว่า มนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและกระหายอำนาจ จนกลายเป็นภาวะ “สงครามระหว่างคนทั้งมวลกับคนทั้งมวล” และเป็นเหตุให้ประชาชนมอบอำนาจให้ผู้ปกครองเพื่อควบคุมความเป็นอนาธิปไตย ขณะที่ฌอง ฌาคส์ รุสโซ เชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเห็นอกเห็นใจกัน แต่อารยธรรมเองที่เป็นตัวการทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง รุสโซจึงเป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยม ส่วนฮอบส์เป็นตัวแทนของอำนาจนิยม
อารยธรรมตะวันตกเติบโตมาจากแนวคิดแบบฮอบส์ -- มนุษย์ช่างเลวร้าย -- ทั้งปรัชญา ศาสนา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา รวมทั้งข่าวที่สื่อเลือกนำเสนอ กระทั่งประวัติศาสตร์ก็ถูกเขียนโดยชนชั้นปกครองซึ่งเชื่อว่าการใช้อำนาจควบคุมประชาชนเป็นสิ่งชอบธรรม ทำให้เราเป็นผลผลิตซ้ำของความเชื่อนี้มาตลอด
แต่เบรกแมนสนับสนุนรุสโซ เขามีหลักฐานสนับสนุนว่า สังคมชนเผ่าเร่ร่อนเป็นสังคมที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่เมื่อมนุษย์ตั้งรกรากทำการเกษตร ทำให้เกิดการสะสมทรัพย์สิน ที่ดิน มีการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากร เกิดผู้นำที่ยึดติดอำนาจ และประชาชนไม่อาจโค่นอำนาจได้ง่ายๆเหมือนสังคมชนเผ่า ต้องทนทำงานหนัก เสียภาษี เผชิญโรคระบาด ถูกจับบูชายัญ และอยู่ภายใต้ระบบชนชั้นในสังคมปิตาธิปไตย รัฐก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงเป็นรัฐแห่งการกดขี่และใช้แรงงานทาส อารยธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างการเขียน กฎหมาย การเงิน ล้วนเกิดจากการที่รัฐต้องการควบคุมกดขี่ประชาชน จนในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี่เองที่อารยธรรมนำไปสู่เสรีภาพและความเทียม
เบรกแมนย้อนไปศึกษาสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เขาพบว่างานวรรณกรรม งานวิจัยทางจิตวิทยา มานุษยวิทยา และเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ ล้วนบรรยายด้านมืดของธรรมชาติมนุษย์เมื่ออยู่ในสภาวะธรรมชาติ แต่เบรกแมนสำรวจตรวจสอบข้อสรุปเหล่านั้นอย่างละเอียด และเห็นความจริงอีกด้านที่ตรงข้าม คือมนุษย์มีความเป็นมิตร มีระบบเครือข่ายทางสังคมที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดมาได้จนถึงวันนี้
งานวรรณกรรมและงานวิจัยล้วนสรุปตามความเชื่อของผู้เขียน ทำให้นึกถึงปรากฏการณ์ราโชมอน ที่ความจริงขึ้นอยู่กับการรับรู้และตีความของผู้รับรู้สถานการณ์นั้นๆ และกลายเป็นความจริงที่แตกต่างกันในมุมมองของแต่ละคน
เมื่อต้องเลือก มนุษย์เลือกสิ่งไหน
หากโดยเนื้อแท้แล้วมนุษย์เป็นคนดี ทำไมมนุษย์จึงแสดงความชั่วร้ายออกมาเมื่อเผชิญสถานการณ์ยั่วยุต่างๆ ถ้ามนุษย์ดี เราจะอธิบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ค่ายเอาชวิตซ์อย่างไร
เบรกแมนศึกษาการทดลองทางจิตวิทยาสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สนับสนุนว่าธรรมชาติมนุษย์นั้นชั่วร้าย และมีการบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในตำราเรียนของนักศึกษา เมื่อค้นลึกลงไปเบื้องหลังการทดลองที่โด่งดังหลายชิ้น อย่างการจำลองคุกใต้ดินในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่นักศึกษาสวมบทบาทเป็นทั้งผู้คุมและนักโทษ และสร้างเงื่อนไขให้ผู้คุมสามารถใช้อำนาจบังคับกดขี่และลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักโทษด้วยวิธีต่างๆ หรืออีกการทดลองหนึ่งที่ให้อาสาสมัครคิดว่าตนกำลังเพิ่มกระแสไฟฟ้าเพื่อช็อตคนที่อยู่อีกห้องหนึ่ง แต่ในความจริงไม่มีการปล่อยกระแสไฟ เบรกแมนพบว่า ข้อสรุปจากการวิจัยที่บอกว่ามนุษย์ชั่วร้าย เกิดจากการออกแบบการทดลองให้ได้ผลตามที่ผู้วิจัยต้องการ เหมือนเป็นการเขียนบทละครให้ผู้ร่วมทดลองเล่นไปตามบทบาท งานวิจัยเหล่านี้จึงไม่น่าเชื่อถือเลย
เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีก เขาพบสิ่งที่ทำให้ผู้ร่วมทดลองยอมทำเรื่องชั่วร้าย คือความคิดว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ ในที่นี้คือการช่วยให้การทดลองประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คนที่สวมบทบาทผู้คุมคิดหรือถูกกดดันให้เชื่อแบบนั้น อาสาสมัครที่กดปุ่มช็อตไฟฟ้าก็เดียวกัน อาสาสมัครจำนวนมากปฏิเสธการช็อตไฟฟ้าต่อไป แม้ว่านักวิจัยที่คุมการทดลองจะพยายามอย่างหนักเพื่อกดดันและบังคับให้พวกเขาทดลองต่อ นั่นแสดงว่ามนุษย์มีความยับยั้งชั่งใจและกล้ายืนกรานที่จะไม่ทำสิ่งเลวร้าย แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกวิเคราะห์และนำเสนอในข้อสรุปจากงานวิจัย
เบรกแมนบอกว่า “ความเลวร้ายต้องถูกอำพรางว่าเป็นการทำความดี” ความคิดว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเหตุผลเบื้องหลังความเลวร้ายของทหารนาซีและกองกำลังก่อการร้ายจำนวนมาก เขายังพบสิ่งที่ทำให้ทหารในสนามรบสู้สุดใจยิ่งไปกว่าเรื่องอุดมการณ์ คือมิตรภาพของสหายร่วมรบ ที่เป็นความผูกพันแน่นแฟ้นขนาดตายแทนกันได้ ซึ่งงานวิจัยที่ทดลองการตอบสนองของเด็กทารกทำให้เราเห็นว่า ความเป็นมิตรมีขอบเขตจำกัดเฉพาะกับคนที่เรารู้จัก และรู้สึกว่าเป็ นพวกเดียวกันเท่านั้น
ทหารแนวหน้ามักรู้สึกเห็นใจทหารฝ่ายตรงข้าม เพราะรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต่างฝ่ายต่างมีเหมือนกัน มีหลักฐานมากมายที่พิสูจน์ว่าทหารมักลังเลใจเมื่อต้องยิงฝ่ายตรงข้าม อาวุธส่วนใหญ่ในสนามรบอย่างมีดปลายปืนและกระสุนในลำกล้องไม่ถูกใช้ หากถูกบังคับให้ยิง พวกเขาก็พากันเล็งสูงเข้าไว้ให้พลาดเป้าเหตุการณ์สงบศึกวันคริสต์มาสอันโด่งดังในปี ค.ศ. 1914 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปรากฏการณ์ที่เผยให้เห็นธรรมชาติแห่งความเป็นมิตรของมนุษย์ได้ชัดแจ้งที่สุด เมื่อทหารฝ่ายเยอรมันและอังกฤษพากันโผล่ขึ้นจากหลุมเพลาะอันหนาวเหน็บหลังเส้นกั้นเขตแตนมาร้องเพลงฉลองคริสต์มาสโต้ตอบกัน แลกเปลี่ยนของขวัญ พูดคุยกันอย่างสนิทสนม เล่นฟุตบอลด้วยกัน และร่วมกันฝังร่างของสหายร่วมรบที่ตายระหว่างการยิงปะทะ
งานวิจยพบว่า ทหารที่เสียชีวิตในสนามรบส่วนใหญ่ตายจากอาวุธสังหารระยะไกล ซึ่งยิงโดยผู้ยิงที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใครหรือรู้สึกอะไรอยู่ ยิ่งระยะห่างมากเท่าไหร่ เราก็จะเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันน้อยลงเรื่อยๆ ผู้นำระดับสูงที่บ้าอำนาจจึงไม่เคยเห็นใจฝ่ายตรงข้ามเหมือนที่ทหารแนวหน้ารู้สึก ในการผลิตทหารให้เป็นนักฆ่า กองทัพต้องพยายามอย่างหนักเพื่อกำจัดความเป็นมนุษย์ของพวกเขาออกไป ทหารจำนวนมากจึงมีบาดแผลทางใจอย่างรุนแรงหลังสงครามจบลง
ความเชื่อว่า “ฉันกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง” และ “เราไม่ใช่พวกเดียวกัน” ถูกปลูกฝังโดยผู้มีอำนาจที่ยึดมั่นในความจริงของตัวเอง และมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ที่เรามีร่วมกัน ทำให้มนุษย์ที่แสนจะเป็นมิตรสามารถแสดงความชั่วร้ายออกมาได้ถึงขั้นหายนะ
ความเชื่อใหม่สร้างโลกใบใหม่
โลกเราทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยอารยธรรมที่เชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นชั่วร้าย ระบบและสถาบันต่างๆจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมดูแลให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ความเจริญเหล่านี้มาพร้อมกับด้านมืด นั่นคือสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ระหว่างชนชั้น ความขัดแย้ง และสงคราม กฎระเบียบต่างๆที่เราสร้างขึ้นกลายเป็นเครื่องกดทับความดีงามภายในที่มนุษย์มี
สิ่งเหล่านี้ควรเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเปลี่ยนได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติของตนเอง นั่นจะทำให้เราเปลี่ยนวิธีการจัดการสถาบันต่างๆให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
ครึ่งหลังของหนังสือ เบรกแมนเล่าตัวอย่างองค์กรต่างๆที่เชื่อในความดีงามของมนุษย์ องค์กรเหล่านี้ทั้งประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กร แนวโน้มนี้กำลังนำเราไปสู่โลกที่ต่างออกไปจากเดิม นั่นคือโลกที่มีความเป็นมิตร ความไว้วางใจ และเต็มไปด้วยสันติภาพ
เขาเล่าถึงตัวอย่างอันหลากหลาย เช่น “บูเอิร์ตซอร์ก” องค์กรดูแลสุขภาพที่บ้านในเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างระบบการทำงานที่กระจายอำนาจ โดยแบ่งการทำงานเป็นทีมย่อยๆ ให้อิสระบริหารจัดการตัวเอง ไม่มีผู้จัดการบริษัท ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีโบนัส บริษัทสนับสนุนทรัพยากรส่วนกลางที่จำเป็น เช่น เว็บไซต์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงาน ทีมโค้ชให้คำปรึกษา และทีมจัดการด้านการเงิน กฎระเบียบและกระบวนการที่ซับซ้อนถูกลดทอนให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้คนทำงานแสดงแรงจูงใจที่แท้จริงออกมา บริษัทเชื่อว่าพนักงานมีความรับผิดชอบและไว้ใจได้ และเชื่อว่าการทำงานโดยอิสระมีประสิทธิภาพมากกว่าการควบคุมใกล้ชิด สิ่งนี้พิสูจน์ว่ามนุษย์มีแรงจูงใจภายในที่ทรงพลังมากว่าแรงจูงจากภายนอกอย่างโบนัสและเงินเดือน ส่วนแรงจูงใจภายนอกใช้ได้ผลกับงานที่ไม่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ที่หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ได้
มีตัวอย่างการศึกษาที่ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระใน “สนามเด็กเล่นขยะ” ในเดนมาร์ก ซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นที่ไม่มีกฎหรือข้อบังคับเรื่องความปลอดภัย และให้เด็กๆดูแลควบคุมกันเอง
โรงเรียนทางเลือก “อโกรา” ในเนเธอร์แลนด์ ไม่มีห้องเรียน ไม่มีการตัดเกรด ไม่มีลำดับชั้นหัวหน้าครู มีแต่ทีมครูอิสระที่เป็นเหมือนโค้ช เด็กๆมีอิสระเลือกเรียนสิ่งที่สนใจ ไม่มีการกลั่นแกล้งกันอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียนปกติ ไม่มีการแบ่งอายุหรือความสามารถ เพราะเด็กๆเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ดูแลตัวเองและเรียนรู้ร่วมกับคนที่แตกต่างโดยมีโค้ชคอยสนับสนุน อโกรามีปรัชญาการสอนเหมือนสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ นั่นคือการเล่นกับการเรียนรู้เป็นสิ่งเดียวกัน
การเมืองแบบมีส่วนร่วมในเมืองตอเรส ประเทศอาร์เจนตินา นักการเมืองมอบอำนาจให้ประชาชนเข้ามาพิจารณงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพยากรส่วนรวม ประชาชนไว้วางใจนักการเมืองมากขึ้น กลุ่มคนชายขอบมีสิทธิ์เสนอความเห็นเท่ากับคนอื่น การทำงานโปร่งใสและทำลายระบบรับสินบน ประชาชนมีสำนึกความเป็นพลเมืองโดยมองประโยชน์ส่วนรวมของเมืองทั้งเมือง ตอเรสเป็นตัวอย่างเมืองที่บริหารงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแบ่งปันทรัพยากรส่วนรวม
ทำดีกับคนที่ทำร้ายเรา
แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายในสังคม เบรกแมนนำเสนอเรื่อง “เรือนจำฮัลเดนและเรือนจำบาสตอย” ในนอร์เวย์ สถานที่ของเรือนจำใกล้เคียงชีวิตปกติมากที่สุด อันที่จริงมันคล้ายรีสอร์ทกลางป่ามากกว่า นักโทษมีห้องพักส่วนตัว มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนในเมือง เช่น ห้องสมุด โรงหนัง หน้าผาจำลอง สตูดิโอดนตรี ไม่มีกรงเหล็กแบบที่เราคุ้นเคย นักโทษและผู้คุมทำอาหารด้วยกัน ไม่มีการพกอาวุธปืนและกุญแจมือ นักโทษยังคงต้องทำงานหนัก เช่น ปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ปรุงอาหาร ตัดฟืน และทำงานก่อสร้าง พัศดีเรือนจำกล่าวว่า “ถ้าเราทำเหมือนพวกเขาสกปรก พวกเขาก็จะสกปรกจริงๆ แต่ถ้าทำกับพวกเขาแบบมนุษย์ พวกเขาก็จะทำตัวแบบมนุษย์” ผลลัพธ์ที่ได้น่าประทับใจ อัตราการกระทำผิดซ้ำต่ำกว่าผู้ที่ถูกตัดสินให้ทำงานบริการชุมชนหรือจ่ายค่าปรับเกือบ 50% ทำให้นอร์เวย์มีอัตราการทำผิดซ้ำต่ำที่สุดในโลก เมื่อคำนวณต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์แล้ว พบว่าเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าระบบเดิมมาก
เบรกแมนเห็นว่าหนทางที่จะอคติและความเกลียดชังได้ดีที่สุด คือการพบปะกัน นักจิตวิทยากอร์ดอน ออลพอร์ต กล่าวว่า อคติ ความเกลียดชัง และการเหยียดเชื้อชาติ เกิดจากการขาดการพบปะ เรามองคนแบบเหมารวมเพราะไม่รู้จักเขา เหตุการณ์ที่หยุดการปะทุของสงครามกลางเมืองในแอฟริกาใต้ได้ เกิดจากการพบปะของพี่น้องฝาแฝดที่อยู่คนละฝ่ายซึ่งไม่ได้เจอกันหลายสิบปี การนั่งลงพูดคุยเจรจากันนำไปสู่ความเข้าใจอีกฝ่าย และเปลี่ยนอคติและความเกลียดชังเป็นมิตรภาพและความเข้าใจ
หนังสือ “ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่ไร้หัวใจ” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนิทานของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันเรื่องหนึ่ง
ชายชรากำลังสอนหลานชายเรื่องการใช้ชีวิต
“ในใจของปู่เหมือนมีหมาป่าสองตัวกำลังต่อสู้กัน ตัวหนึ่งนิสัยไม่ดี ขี้โกรธ ขี้อิจฉา ซึมเศร้า ตรอมตรม ละโมบ จองหอง สงสารตัวเอง รู้สึกผิดปาป ขุ่นเคืองใจ รู้สึกด้อยค่า ขี้โกหก เย่อหยิ่ง จอมปลอม ยโสโอหัง เต็มไปด้วยอัตตา
ส่วนอีกตัวนิสัยดี เบิกบาน สงบ เต็มไปด้วยรัก เยือกเย็น ถ่อมตน เป็นมิตร มีเมตตา เอาใจใส่ เอื้ออาทร ซื่อสัตย์ เห็นอกเห็นใจ และมีศรัทธา
หมาป่าสองตัวนี้มีอยู่ในเราทุกคนเหมือนกัน”
หลานชายครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งและถามปู่ว่า “แล้วตัวไหนชนะละครับ?”
ปู่ตอบว่า “ตัวที่หลานให้อาหารยังไงล่ะ”
เราเลือกที่จะสร้างความจริงของตัวเองและโลกที่เราอยากให้เป็นได้ ขึ้นกับว่าเราตั้งใจหล่อเลี้ยงหมาป่าตัวไหนให้เติบโตมากกว่ากัน
Commentaires