บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1
“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”
สุขภาวะทางปัญญาวัดได้: องค์ประกอบและตัวชี้วัดสุขภาวะทางปัญญาในคนทำงานและนิสิตนักศึกษา
สุขภาวะทางปัญญาวัดได้จริงหรือ?
ชวนร่วมเรียนรู้เพื่อส่งเสริมเส้นทางการพัฒนาจิตให้สังคมไทย ฟังแนวคิด ความเชื่อพื้นฐาน และสถานการณ์ความท้าทายในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาในปัจจุบัน ทำความรู้จักกับแบบวัดสุขภาวะทางปัญญาสำหรับคนทำงานและสำหรับนิสิตนักศึกษา การวัดประเมินเพื่อพัฒนาที่มาจากการสัมภาษณ์จากประสบการณ์จริง และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยนับพันคน และร่วมกันค้นหาโอกาสการต่อยอดและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม
สรุปภาพรวมการจัด
สุขภาวะทางปัญญาวัดได้จริงหรือ? การเสวนาในหัวข้อ T1-1 สุขภาวะทางปัญญาวัดได้: องค์ประกอบและตัวชี้วัดสุขภาวะทางปัญญาในคนทำงานและนิสิตนักศึกษา ได้ชวนให้ผู้เข้าร่วมมาทำความรู้จักกับ “แบบวัดสุขภาวะทางปัญญา” สำหรับคนทำงานและสำหรับนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นการวัดประเมินเพื่อพัฒนาที่มาจากการสัมภาษณ์จากประสบการณ์จริงและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยนับพันคน
โดยสรุปหากเรามองสุขภาวะทางปัญญาเป็น Trait หรือเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ เราจะเห็นสุขภาวะทางปัญญานั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การออกแบบการวัดประเมินผลที่ไม่ได้มุ่งตีตราหรือมองว่าสุขภาวะทางปัญญาเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง ทั้งนี้เมื่อพูดถึงแบบทดสอบหรือแบบวัดประเมินผล ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกแบบวัดประเมินผลมีข้อจำกัด มี Error เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยเองหรือผู้ที่ทำแบบประเมินก็จะต้องตระหนักไว้เสมอ
จากการวิจัยเพื่อสร้าง แบบวัดสุขภาวะทางปัญญาในคนวัยทำงานอย่างเข้มข้น โดย รศ.ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล พบว่าความเอื้ออาทร กัลยาญมิตร การสะท้อนใคร่ครวญและกิจกรรมทางจิตวิญญาณ นั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสู่การมีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งนำไปสู่การมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญา และสภาวะบ่งชี้การมีสุขภาวะทางปัญญา อันได้แก่ การมีชีวิตที่สมบูรณ์ สัมพันธภาพที่ดีงาม การมีสติ การยอมรับตนเอง ความสงบใจ ความมีใจแผ่กว้าง และเป้าหมายที่มีคุณค่า
เช่นเดียวกับ การวิจัยเพื่อสร้างแบบวัดสุขภาวะทางปัญญาในนิสิตนักศึกษา โดย ผศ.ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี ที่พบว่าทิศทางในการเกิดหรือการพัฒนา หรือแนวทางในการเพาะบ่มสุขภาวะทางปัญญาในนิสิตนักศึกษานั้นเริ่มจากการมีต้นทุนภายในที่ดี อันได้แก่ พื้นฐานครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่เป็นเบ้าหลอม วิกฤตที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาตนเอง พื้นฐานส่วนบุคคล การมีตัวแบบที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการเพาะบ่มและคงไว้ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมแห่งศรัทธา การมีสติและการกำกับอารมณ์ตนเอง การทำกิจกรรมจิตอาสา การสะท้อนตนเอง และการรับฟังและจดจำเรื่องราวทางบวก โดยทั้งต้นทุนภายใน และกระบวนการเพาะบ่มและคงไว้ ที่กล่าวไว้ข้างต้นส่งผลต่อองค์ประกอบสุขภาวะทางปัญญา ที่ประกอบด้วย ความสุขสงบภายใน การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ความเมตตาต่อผู้อื่น การเชื่อมโยงกับธรรมชาติและประสบการณ์เหนือตน การชัดเจนในคุณค่าแห่งตน การมีความหมายในชีวิต และการตระหนักรู้ความหมายของการเรียน/การศึกษา
Comments