top of page

แกะรอยเส้นทาง Soul Connect Fest 2023

เขียนโดย ณัช มัศโอดี นักวิชาการประเมินผล


งานที่เปรียบเสมือนของขวัญแก่นักวิชาการ นักวิจัยที่สนใจด้านสุขภาวะทางปัญญา กระบวนกร ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในการดูแลจิตวิญญาณภายในของผู้คนและสังคม ที่ต่างตกผลึกความเข้าใจมาอย่างยาวนานจนเป็นเนื้อเป็นตัว ได้มารวมพลังกันสร้างสรรค์ แบ่งปัน เชื่อมโยง และส่งต่อแสงสว่างในการยกระดับจิตวิญญาณของสังคม

 

“Soul Connect Fest 2023 มหกรรมพบเพื่อนใจ” ชื่อที่หลายคนคุ้นหูจากการจัดงานกิจกรรมใจกลางสยามสแควร์แหล่งรวมคนรุ่นใหม่ ที่ลิโด้คอนเน็คท์ ในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566  จัดคู่กันกับ “งานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา” ในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2566  ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งสองงานอยู่ภายใต้ “โครงการ Soul Connect Fest จุดเชื่อมโยงการเดินทางของงานสุขภาวะทางปัญญา” สนับสนุนโดยสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) ของ สสส. โดยการบริหารและประสานงานของ ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ธนาคารจิตอาสา และองค์กรร่วมจัดต่างๆ ร่วมกับนักวิชาการและภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญา

 

ก่อนที่โครงการ Soul Connect Fest จะกลับมาพบกับทุกคนอีกครั้งในปี 2568 ขอย้อนแกะรอยเส้นทางของงานที่ผ่านมาจากข้อมูลการประเมินผลโครงการ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของทุกพลังที่ร่วมกันสร้างสรรค์




จุดเริ่มต้นและหัวใจของงาน


ในช่วง 20 ปีที่ผานมา การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิตใจ สังคม และปัญญา ส่วนใหญ่ยังเป็นการขยายงานในแนวราบของผู้ปฏิบัติการกลุ่มต่างๆ ที่สนใจประเด็นนี้ และการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ในลักษณะทางเลือกของระบบที่มีอยู่ ทำให้พื้นที่การทํางานประเด็นสุขภาวะทางปัญญาในโครงสร้างใหญ่ของระบบสุขภาพ รวมทั้งโครงสร้างทางวัฒนธรรมและการรับรู้ของสาธารณะยังมีไม่มากนัก

 

จากโจทย์สำคัญของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) ของสสส. ในการเชื่อมโยงงานสุขภาวะทางปัญญาของไทยเข้ากับงานสร้างเสริมสุขภาพระดับสากล ทำให้กลุ่มคนทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของไทยต้องกลับมาจัดทัพจัดขบวนภายใน เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ประเด็นการทำงาน แบ่งปันข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน และร่วมกันสังเคราะห์ภาพรวม เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ทั้งระดับขบวนการทำงานในประเทศ และการเข้าเชื่อมโยงกับงานระดับสากล รวมทั้งเป็นการขยายการรับรู้และความเข้าใจในประเด็นสุขภาวะทางปัญญาให้กับคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพและสาธารณะไปพร้อมกัน



จุดสนใจในการประเมินโครงการ Soul Connect Fest


วัตถุประสงค์ในการประเมินเพื่อ 1) ประเมินผลสำเร็จของงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา และ Soul Connect Fest 2023  2) เพื่อสำรวจศักยภาพในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญา และภาคีที่ทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญา 3) เพื่อเสนอแนะทิศทางการขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญา และการทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ ในอนาคต 

 

กลุ่มเป้าหมายในการประเมินผลคือ 1) กลุ่มผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการฯ ผู้เข้าร่วมงาน SCF  2) กลุ่มผู้จัดเวทีหรือกิจกรรม ได้แก่ เจ้าภาพห้องย่อยงานประชุมวิชาการฯ ผู้จัดกิจกรรมหรือภาคีเครือข่ายงาน SCF  3) กลุ่มคณะกรรมการจัดงาน ได้แก่ คณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการฯ คณะทำงานวิชาการ กองบรรณาธิการ คณะทำงานหลักงาน SCF และ 4) กลุ่มหลัก ได้แก่ องค์กรร่วมจัดหลัก ผู้สนับสนุนหลัก และกลุ่มงานสนับสนุน 

 

โดยมีกรอบแนวคิดในการประเมินผลผ่านกระบวนการจัดการความรู้ ดังนี้

        

  1. การถอดบทเรียนจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Praxis) ตามวงจรการเรียนรู้หลักสูตรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ (Alternative Leadership Training) ผ่านการสะท้อนความรู้สึก การสังเกต บทเรียนที่ได้รับ และการประยุกต์ใช้


  2. การประเมินผลผ่านการจัดการความรู้โดยใช้วิธีบอกเล่าเรื่องราว (Narrative Approach) เป็นการทำความเข้าใจ ปรากฎการณ์ต่างๆ ผ่านเรื่องเล่า


  3. The work that reconnects คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย Joanna Macy และทีม เป็นกรอบแนวคิดในกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการสะท้อนใคร่ครวญ (reflection) การรู้สึกถึงคุณค่า การรับรู้ความทุกข์ร่วมกับโลก การมองด้วยมุมใหม่ และการก้าวไปข้างหน้า

 

เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ประกอบด้วยแบบสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน แบบสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงาน (Self-reflection) การสัมภาษณ์รายบุคคล  การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (focus group)  และการสังเกตรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หลังการประเมินผลนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติและประมวลข้อมูลเชิงคุณภาพ



การออกแบบจุดเชื่อมต่อ


จากการสัมภาษณ์ คุณรัชนี วิศิษฎ์วโรดม ผู้ประสานงานเวที ได้เล่าถึงการจัดเวทีประชุมวิชาการในครั้งนี้ ให้มีรูปแบบที่ไม่แข็งตัวแบบวิชาการมากไป และสื่อสารจิตวิญญาณด้วย เช่น ดนตรีจะต้องขึ้นมากับจังหวะชีวิตของหมอแต่ละคน การสื่อสารประสบการณ์ตรงของการเปลี่ยนแปลงภายใน และสื่อสารกับสิ่งที่ตรงไปตรงมา เวทีในพิธีเปิด-ปิด ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสูง และให้ความหมายของคุณค่าความเป็นมนุษย์และรองรับวิชาการ เป็นเวทีความรู้ที่เข้าไป touch ในระดับภายใน          

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้าน production ดนตรีและการแสดง จาก TED TALK เป็น SPIRITUAL TALK ศิลปินพอใจในระดับสูง คนทำงานพอใจ ดนตรีทำให้โอบอุ้ม และเกิดประสบการณ์เชิงปฏิบัติการ (ปัญญาปฏิบัติ)  วงสลึงเชื่อมโยงเนื้อหาสังคมและมิติความเป็นมนุษย์ ดังนั้น การพัฒนาระดับบุคคลทำให้เกิดผลกระทบ (impact) ต่อสังคม คนทำงานวิชาการจะเห็นการพัฒนามิติสังคม

 

เวทีในช่วงของ อ.อรอร ภู่เจริญ มีความท้าทาย เป็นการเสวนาแบบไฮบริด speaker จากอินเดีย ต้องเห็นความเป็นมนุษย์กับมนุษย์ (Being) ของทั้งสองฝั่ง เป็นการสำแดง Being ข้ามทวีป ในประเด็นสำคัญต่อมนุษยชาติ

 

และในพิธีปิด ตอนประกาศเจตนารมย์ โจทย์แบบที่ชนเผ่าอินเดียแดงประกาศความเชื่อมั่น จากภายในศรัทธาที่งานมี และต้องการครอบคลุมประเด็นในทุกมิติ ใช้ละคร กระบวนการเรียนรู้ และเทคนิคเวที ทำให้ผู้ประกาศพูดจากหัวใจ คนฟังสามารถเข้าใจ ยกระดับจากระดับบุคคลไปสู่สังคมได้

 

จุดแข็งของงาน คือ ความหลากหลายของประเด็น เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ ความต่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ เช่น ศาสตร์แม่มด, ประเด็นเชิงนโยบายของ สช.  ทำให้คนเปิดกว้างมากขึ้น

 

ส่วนงาน Soul Connect Fest 2023 ทีมชูใจ กะ กัลยาณมิตร  ผู้สร้างสรรค์งานนิทรรศการใจกลางเมือง ได้เล่าว่า ทำไมคนถึงอินมากกว่า Event ทั่วไปอาจเป็นได้ว่าเราออกแบบให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ งานนี้เป็นต้นแบบการเรียนรู้สุขภาวะทางปัญญาได้เพราะคนมีส่วนร่วมมากกว่านิทรรศการอื่นๆ เช่น นิทรรศการหนอน (ดอกไม้และความหวัง) คนอยากเล่นเพราะเขากำลังพูดคุยกับตัวเองไม่ใช่ทำเพื่อตอบโจทย์คนจัดนิทรรศการ เรามีพื้นที่ให้เขาได้เข้ามาร่วมโดยเป็นประสบการณ์ตรง อย่างเช่นการปักดอกไม้ เป็นวิธีการสื่อสารกับตัวเอง การจัดนิทรรศการที่มีส่วนร่วมหรือ interact แบบนี้เป็นส่วนที่ดีมากของงานสุขภาวะทางปัญญา

 

Experience เป็นส่วนสำคัญการทำให้คนได้เชื่อมโยงกับตัวเอง มีประสบการณ์ร่วมกับตัวนิทรรศการ การจัดนิทรรศการครั้งนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะคนได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาเช่นช่วงโควิด ครั้งนี้ทำให้สอดรับและสอดประสานกันเพราะคนต้องการเครื่องมือที่มาโอบอุ้มตัวเขาไว้




สัญญาณแรกของการเชื่อมต่อ


พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมงานเกินกว่าเป้าหมายทั้งสองงาน และมีระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน อยู่ในระดับมากที่สุด

 

จากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ 211 คน  (จำนวนผู้เข้าร่วมงาน 706 คน จากเป้าหมาย 500 คน) ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน 85.4% ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานต่อการจัดห้องย่อยวิชาการ 90.1%

 

และจากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน Soul Connect Fest 2023 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 371 คน (จำนวนผู้เข้าร่วมงาน 10,000  คน จากเป้าหมาย 2,000 คน) ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน Soul Connect Fest 85.8% ความต้องการในการจัดงาน Soul Connect Fest ครั้งต่อไป 99.7%

 

จากผลลัพธ์ข้างต้นสะท้อนสภาพสังคมที่มีความต้องการพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่ในการทดลองผ่านประสบการณ์ตรง พื้นที่ในการใคร่ครวญภายในและฟื้นฟูจิตวิญญาณ เป็นโอกาสในการทำการศึกษาวิเคราะห์ความสำคัญและความสนใจด้านสุขภาวะทางปัญญาของสังคม  การสำรวจชุดความรู้วิชาการ เครื่องมือ/กิจกรรมด้านสุขภาวะทางปัญญาต่อไป

 

นอกจากนี้พบว่า ระดับความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานที่มีต่อความเข้าใจประเด็นสุขภาวะทางปัญญาอยู่ในระดับสูง ระดับความเข้าใจตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้นในระดับสูง สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ผ่านเครื่องมือต่างๆ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ภายในตนเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่นและสังคมได้  เป็นพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะที่ทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่าย



สัญญาณของการเชื่อมใจ 


ผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการเข้าใจสุขภาวะทางปัญญามากขึ้นจากภาพรวมของงานผ่านความรู้จากการเสวนา การตระหนักรู้ผ่าน workshop  กิจกรรม บรรยากาศ ดนตรี อาหาร การจัดการขยะ ไมตรีจิตและความใส่ใจของวิทยากรและทีมงาน รวมทั้งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ได้รับรู้มุมมองของตนเองและผู้อื่น เข้าใจสภาวะของสังคมมากขึ้น

 

ผู้เข้าร่วมงาน Soul Connect Fest สะท้อนภาพงานเป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้ทบทวนตนเอง รู้จักตนเอง ปรับมุมมองที่มีต่อผู้อื่น เยียวยาจิตใจ ผ่านเครื่องมือหลากหลายที่นำไปใช้ในการดูแลตนเองได้ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่สนใจเรื่องการพัฒนาภายในตนเอง ได้รับความรู้ที่ไม่มีในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เห็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง รู้ว่าชีวิตมีคุณค่า  ชื่นชมกระบวนกรที่สะท้อนได้ตรงประเด็น ทีมงานให้คำแนะนำให้กำลังใจและกระตุ้นให้เรียนรู้ ภาพลักษณ์งานมีความทันสมัย เหมาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ สถานที่กลางเมืองเดินทางสะดวก

 

การมีพื้นที่ของโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในประเด็นนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมฟรี มีความสำคัญและจำเป็น เพราะโดยปกติเวิร์กชอปที่ต้องจ่ายเงิน ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ยังมีเงินไม่มากนักไม่เข้าร่วม เพราะยังไม่รู้จักดี และคนรุ่นใหม่บอกว่า เพื่อนของเขาอย่างน้อย 20% มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างรุนแรงและเข้าไม่ถึงการรักษา หลายคนอยากให้มีกิจกรรมเหล่านี้ในโรงเรียน

 

คุณแสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร ผู้ดูแลงานสื่อสาร สะท้อนภาพว่า จากที่ได้คุยกับคนมาร่วมงาน การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ มีสิ่งที่ไปงอกงามในใจเขา คนปัจจุบันต้องการพื้นที่การฟัง การได้ตั้งคำถามกับตัวเองก็คุ้มค่าที่ได้มางาน  เด็กๆ ในงาน Soul Connect Fest มีตั้งแต่เด็กมัธยมถึงมหาวิทยาลัย  เห็น trend ในการสร้าง empathy  สามารถนำเครื่องมือในงานกลับไปใช้ดูแลตัวเองได้



สัญญาณของการเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย


จากพื้นที่เรียนรู้สาธารณะทั้ง 2 พื้นที่ เกิดการสร้างความเป็นเครือข่าย จากเดิมที่อยู่แบบกระจัดกระจาย เป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่จาก 70 องค์กร เป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนงานต่อไปแบบ Collaborative Network รับรู้ถึงการต่อเติมคุณค่าของคนทำงาน เห็นความสำคัญของเครื่องมือด้านสุขภาวะทางปัญญา การสำรวจความคิดเห็นเจ้าภาพห้องย่อยในงานประชุมวิชาการ และภาคีผู้จัดกิจกรรมในงาน มหกรรมจำนวน พบว่า 100% ต้องการทำงานในลักษณะการจัดมหกรรมสุขภาวะทางปัญญาในครั้งต่อไป และมีการขยายวงการเชื่อมโยงเครือข่ายหลังจากเสร็จงาน

 

ภาคีเครือข่ายได้เห็นได้เชื่อมโยงประเด็นสุขภาวะทางปัญญาผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย รู้จักเครือข่ายอีกมากมายที่ทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาจิตใจและจิตวิญญาณ กิจกรรมทำให้ได้เห็นคนออกจากทุกข์ ส่งผลให้ภาคีเครือข่ายได้รับการเติมพลังสำหรับตนเอง กิจกรรมต่างๆ ย่อยเนื้อหาได้ดี เข้าถึงผู้คนได้ง่าย เข้าถึงวัยรุ่นได้ดี และเห็นโอกาสของการเคลื่อนไปสู่สุขภาวะทางปัญญาของสังคม

 



การสื่อสารที่เข้าถึงเข้าใจ

 

การเข้าถึงการสื่อสารในช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งทาง ออนไลน์และสื่อหลักต่างๆ เกิดการเข้าถึงผ่านช่องทางออนไลน์ราว 6,000,000 ครั้ง ช่องทางการสื่อสารที่สำคัญ คือ เฟสบุ๊กเพจ Soul Connect Fest เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์งาน Soul Connect Fest 2023 และเฟสบุ๊กเพจจิตวิวัฒน์- New Conscious และ เว็บไซต์จิตวิวัฒน์ www.jitwiwat.com สื่อสารประชาสัมพันธ์งานประชุมวิชาการ มีการสื่อสารโพสต์ต่างๆ ของเพจออกไปผู้ใช้งานที่มองเห็นโพสต์ ผู้มีส่วนร่วมกับเพจ มีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งช่วงวัยและถิ่นอาศัยตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักของงาน


นอกจากนี้ยังร่วมกับเพจ มนุษย์กรุงเทพ, The People, มนุษย์ต่างวัย และ The Momentum ผลิตบทความจากชีวิตและงานของผู้ร่วมจัดงานวิชาการ มีการเข้าถึงทุกช่องทาง มีส่วนร่วมจำนวนมาก ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการสานพลังการสื่อสารภาคีเครือข่ายระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ในการเชิญอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกิจกรรมและเขียนรีวิว ในช่องทางการสื่อสารส่วนตัว ทำให้เพิ่มการเข้าถึงการประชาสัมพันธ์งานในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก มีสื่อมวลชนลงเนื้อหาประชาสัมพันธ์งานผ่านช่องทางสื่อต่างๆ  

 

ในการจัดงานแถลงข่าว Soul Connect Fest และการเชิญสื่อมวลชนร่วมพิธีเปิดงานวิชาการและงานมหกรรม ทำให้ได้รับการนำเสนอในพื้นที่สื่อต่างๆ จำนวนมากมีสื่อมวลชนลงเนื้อหาประชาสัมพันธ์งานผ่านช่องทางสื่อต่างๆ คิดเป็นค่า PR value 13,550,500 บาท โดยในงานได้มีการกล่าวถึงสภาพปัญหาสังคมปัจจุบันที่พบว่าผู้คนมีปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น  สังคมต้องการเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงภายใน เราใช้เครื่องมือสุขภาวะทางปัญญาไม่ใช่เพื่อการบำบัดรักษา แต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน นอกจากนี้ยังได้แสดงมุมมองที่หลากหลายต่อความหมายและการสื่อสารเรื่อง “สุขภาวะทางปัญญา” อีกด้วย



ข้อค้นพบจากการเคลื่อนงาน


  1. เกิดการเรียนรู้การทำงานในระดับเครือข่ายขนาดใหญ่ การจัดการความขัดแย้ง การทำสิ่งที่ต้องใช้พลังมาก ซึ่งต้องมีการเสียสละบางอย่างจากภายใน เช่น การยอมรับความทุกข์บางอย่าง หากก้าวผ่านไปได้ จะเกิดการเรียนรู้และเติบโต

  2. บางองค์กรใช้ทุนขององค์กรตนเองมาเข้าร่วม มองเห็นความเป็นเจ้าของร่วม เป็นเวทีของแต่ละองค์กรในการทำเครือข่ายแนวราบ มองเห็นโอกาสในการใช้ทรัพยากรร่วม เช่น สถานที่ เทคโนโลยี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านและสนใจสร้างสรรค์งานด้านสุขภาวะทางปัญญา

  3. การมีเป้าหมายและทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน จะช่วยให้สามารถออกแบบกระบวนการเพื่อตอบสนองภาพเป้าหมายนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

  4. วัฒนธรรมหรือสไตล์การทำงานเปิดพื้นที่และเปิดการมีส่วนร่วมสูง สร้างเครือข่ายจากความต้องการร่วม

  5. ผลกระทบที่เกิดขึ้น (impact) สังคมเกิดการรับรู้เรื่องสุขภาวะทางปัญญาผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ผู้เข้าร่วมงานเห็นความสำคัญของการกลับมาดูแลจิตวิญญาณภายใน ภาคีเครือข่ายเกิดการรู้จักและเริ่มเชื่อมโยงกัน โดยรวมเห็นผลลัพธ์ในระดับการรับรู้ (awareness) ในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบในระดับการตื่นรู้หรือยอมรับ (awakening) หรือความคาดหวังที่จะให้เกิดการลงมือทำ (action) ภายในระยะเวลาสั้นๆ นี้ได้ รวมถึงยังไม่เห็นสัญญาณของการขยายผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน



ปัจจัยความสำเร็จ


จากผลการสัมภาษณ์แบบบุคคลและแบบกลุ่ม พบว่าปัจจัยความสำเร็จในการจัดงานมหกรรมสุขภาวะทางปัญญา คือ


1. ภาคีเครือข่ายทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญามาอย่างยาวนาน ทั้งนักวิชาการ นักจัดกิจกรรม และทีมงานหลายฝ่าย ต่างสั่งสมประสบการณ์ตรงจนสิ่งที่ทำมีความเป็นเนื้อเป็นตัว สามารถถ่ายทอดความรู้ สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ สร้างสรรค์งานและบรรยากาศ ที่นำพาให้ผู้คนกลับเข้ามาเชื่อมโยงระหว่างกัน และเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณภายในตนเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้ต้องการให้เกิดภาคีที่ทำงานในภาพรวมด้วยกัน เป็น “ตัวนำทาง” เพื่อเคลื่อนขบวนต่อ รวมถึงขบวนที่จะเชื่อมโยงกับพื้นที่ในต่างประเทศด้วย


2. คุณภาพภายในตัวคน การดูแลความต้องการของทุกคนในกระบวนการ ทั้งทีมงาน ภาคีร่วมจัด และผู้เข้าร่วมงาน ในงานนี้ทุกคนไม่ได้เป็นเพียงผู้ทำเรื่องสุขภาวะทางปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำด้วยสุขภาวะทางปัญญาด้วย เมื่อการออกแบบงานใหม่มีระยะเวลาเตรียมการน้อย แม้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น จุดที่สำคัญมาก คือทุกคนมีวิถีปฏิบัติ มีเครื่องมือในการรับมือกับความขัดแย้ง สามารถออกจากความคิดมาสู่การลงมือทำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนวางภาพฝันของตนและมาร่วมด้วยช่วยกันลงมือทำ  ทำให้งานภาพรวมสำเร็จด้วยดี การดูแลภาคีเครือข่ายด้วยแนวทาง “สุขภาวะทางปัญญา” จึงทำให้ไม่หลงทาง เพราะการรักษาสมดุลระหว่างเรื่องประสิทธิภาพและการเติบโตเป็นสิ่งสำคัญ ในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญาร่วมกัน




โอกาสในการปรับปรุงการจัดงาน


จากการจัดงานพบจุดที่เป็นโอกาสในการปรับปรุง ดังนี้

  1. ระบบการลงทะเบียนผู้เข้าร่วม การเตรียมวิธีลงทะเบียนแยกห้องย่อย หรือห้องกิจกรรมใน Soul Connect Fest จำเป็นต้องยกระดับข้อมูลขึ้นมาเป็นความสำคัญในการกำหนดภาพงาน และให้ความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน

  2. จำนวนและเวลาของกิจกรรมที่มีความพอดี ไม่แน่นจนเกินไป สามารถเลือกเข้าร่วมได้สะดวก

  3. พื้นที่จัดงานที่ต้องการความสงบ ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสม ลดเสียงรบกวน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการจัดกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้



ข้อเสนอแนะเพื่อการเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญาในอนาคต


ทิศทางการทำงานประเด็นสุขภาวะทางปัญญา และข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในอนาคต คือ


  1. ด้านนโยบาย ควรจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนที่การขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญา เพื่อให้มีทิศทางที่เป็นรูปธรรม หรือผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ เป็นยุทธศาสตร์ของสังคม รวมถึงยุทธศาสตร์การสื่อสารที่สร้าง Values ให้สังคม

  2. ควรเชื่อมโยงเรื่องจิตวิญญาณกับการพัฒนา จิตวิญญาณกับสังคม หลอมรวมรากของพลังธรรมชาติ

  3. มุ่งบ่มเพาะชุมชนกัลยาณมิตร เปลี่ยนแปลงสังคมในทุกระดับชั้น ผ่านความดี ความงาม ความหวัง

  4. สร้าง mapping งานสุขภาวะทางปัญญา สำรวจว่าใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน และจัดแผนที่เดินทาง cross ทั้งแบบกลุ่ม และแบบ level การจัดทำ Spiritual Literacy ให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยอาจจัดตาม Aging Based/ Issue Based/Area Based/ Work Based จัดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น กลุ่ม Newcomers กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนที่มีปัญหา คนที่เข้าไม่ถึง คนที่ทำงานในองค์กร เด็กเยาวชนในโรงเรียน จะทำให้จัด Spiritual Literacy ที่เหมาะสมได้

  5. มีกระบวนการส่งเสริมภาคีเครือข่าย ทั้งนักวิชาการและนักจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สร้างชุมชนกัลยาณมิตร ชุมชน spiritual  สร้าง mood & tone ให้อยู่ร่วมกันนานๆ การสร้าง ecosystem สร้างให้เกิดชุมชน

  6. ขยายเครือข่ายสู่ระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และกลไกในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญา โดยอาจจะเริ่มเชิญภาคีที่เป็น International Sector มาเข้าร่วม

  7. การสื่อสารสุขภาวะทางปัญญาให้เข้าใจง่าย รวมถึงการตีความศิลปะที่เชื่อมโยงไปสู่สุขภาวะทางปัญญา

  8. การส่งเสริมการทำวิจัยด้านสุขภาวะทางปัญญา ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและผู้วิจัย

  9. การทำงานเชิงประเด็นหรือพื้นที่ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขวางและเกิดการเปลี่ยนแปลง

  10. การประเมินผลควรประเมินความคุ้มค่าของสังคม และควรประเมินผลในระยะยาวเพื่อติดตามการพัฒนาด้านสุขภาวะทางปัญญา และการเก็บเรื่องเล่าไว้เผยแพร่

 

จากจุดเชื่อมโยงการเดินทางของงานสุขภาวะทางปัญญา ทำให้เกิดต้นแบบพื้นที่สื่อสารและเรียนรู้สาธารณะขนาดใหญ่ทั้ง 2 พื้นที่ ที่เข้าถึงง่าย สร้างสรรค์ ดึงดูดใจ เกิดการขยายผลการรับรู้ของสาธารณะในประเด็นการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาในวงกว้าง และเกิดความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างภาคีเครือข่าย ที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางในเชิงยุทธศาสตร์และการเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญาในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป



อ่านรายงานการประเมินผลงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา และ Soul Connect Fest 2023 ฉบับเต็ม ได้ที่นี่

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page