top of page

เปิด Proceedings งานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาครั้งแรก

เปิด Proceedings งานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาครั้งแรก

อ่านผลงานวิชาการแนวใหม่ที่รับฟังเสียงภายในของผู้วิจัยอย่างลึกซึ้ง

เคารพเพื่อนมนุษย์ และอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ


จิตวิวัฒน์ชวนอ่าน เอกสารสืบเนื่องจากงานประชุม ของงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กับ 20 บทความวิชาการและบทความรับเชิญ ที่เป็นรูปธรรมของการทำงานร่วมกันของทั้งผู้จัดและเพื่อนมิตรผู้ประพันธ์บทความ ที่ปรารถนาให้โลกแห่งวิชาการได้ผสานเข้ากับการเติบโตงอกงามทางจิตวิญญาณ และช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ยากของมวลมนุษย์ ความปรารถนานี้นั้น เป็นดั่งดาวเหนือคอยนำทางให้เครือข่ายคนทำงานสุขภาวะทางปัญญาได้ทำงานวิจัยในพื้นที่ของตนเองด้วยความเข้าใจและหัวใจความเป็นมนุษย์ ของทั้งตนเอง ผู้อื่น และสังคม


รีวิวโดย อุษณีย์ เพียรภัทรพงศ์ ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา




หากความหมายของการทำงานวิจัยหรือการเขียนบทความวิชาการเป็นไปเพื่อค้นหาความจริง หรือหนทางออกจากปัญหาที่ตั้งต้นไว้ งานวิจัยแนวจิตวิญญาณก็ดำเนินไปเพื่อเป้าประสงค์นั้นเช่นเดียวกัน คือการศึกษาปัญหา/ความทุกข์ และหาหนทางเข้าสู่ความจริง หรือข้อสรุปเพื่อคลี่คลายความทุกข์ และแก่นสำคัญของงานวิจัยที่มีจิตวิญญาณ คือการมองความจริงอย่างเป็นองค์รวม (holistic) เห็นความเชื่อมโยงของทั้งตนเอง สิ่งที่กำลังศึกษา และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตที่ละเอียดของผู้วิจัย การดำรงอยู่กับสิ่งที่ศึกษานั้นอย่างจดจ่อ เปิดรับฟังอย่างลึกซึ้ง มีความเข้าอกเข้าใจ จนเกิดสุขภาวะทางปัญญา หรือความเข้าใจตามความเป็นจริง ผู้วิจัยต้องผ่านการฝึกฝนในเรื่องการสังเกต และเท่าทันความจริง ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ อย่างเช่น โลกภายในของตนเองที่ประกอบด้วย อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ และอคติ เป็นต้น


เมื่องานวิจัยแนวจิตวิญญาณได้เปิดพื้นที่ให้กับความจริงของโลกภายในตนเองด้วยนั้น จึงเปิดรับให้มีงานวิจัยตนเอง (self -study) ในหนังสือรวมบทความนี้ก็มีการศึกษาแนวดังกล่าวให้ติดตามหลายเรื่อง ได้แก่ “การสะท้อนตนเองของผู้วิจัยในการจัดดอกไม้แบบโคริงกะ” (สุพิชฌาย์ เอี่ยมดิลกวงศ์ และคณะ) ว่าด้วยการกลับมายอมรับและเข้าใจตนเองผ่านกระบวนการจัดดอกไม้, “ร้อง เล่น ‘เห็น’ ตัวเอง” (ศักดิ์ชัย เอี่ยมกระสินธุ์) การสำรวจตัวตนภายในผ่านศาสตร์การแสดง, “การเดินทางภายในของฉันผ่านการทำกลุ่มสนทนาเพื่อการเติบโตในองค์กร” (เพ็ญนภา เสน่ห์ลักษณา และคณะ) เล่าถึงการเผชิญหน้ากับความคาดหวังในตนเองของการเป็นผู้นำกลุ่ม, “เมื่อฉันกลายเป็นแม่มด: การเดินทางของแม่มดคนหนึ่งในสังคมไทย” (อันธิฌา แสงชัย) การฟื้นฟูอำนาจภายในของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านศาสตร์แม่มด, “การสืบค้นตนเองของผู้วิจัยในการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยด้านจิตใจในครอบครัว” (ปาริชาติ เลิศบุญเหรียญ และคณะ), “การสนทนาระหว่างฉันกับแม่: ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงมิติภายในของผู้ดูแลผ่านการสนทนากับผู้ป่วยอัลไซเมอร์” (ชนะพัฒน์ อิ่มใจ และคณะ) การเติบโตภายในของผู้ดูแลคนในครอบครัวที่กำลังป่วยด้วยโรคทางจิตและอัลไซเมอร์ และ “เมื่อนกโบยบิน: การเติบโตภายในของฉันจากการทำงานในแวดวงสุขภาวะทางปัญญา” (แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร) การค้นพบความหมายของชีวิตผ่านงานสัมภาษณ์คนทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญา


เมื่องานวิจัยแนวจิตวิญญาณได้เปิดพื้นที่รับฟัง มองความหลากหลายอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นมนุษย์ และเชื่อมั่นในศักยภาพที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ เติบโตเป็นมนุษยที่สมบูรณ์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ผ่านบทความวิชาการ ได้แก่ “สุนทรียสนทนากับการสานสัมพันธภาพในครอบครัว” (ศศิ มาสุข และคณะ) การสร้างพื้นที่รับฟังที่ปลอดภัยในหน่วยเล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัว, “การข้ามพ้นตัวตนในบริบทการเล่นลูสพารตส์” (ศศิลักษณ์ ขยันกิจ และคณะ) กล่าวถึงการเติบโตของเด็กปฐมวัยและผู้ใหญ่ผ่านสัมพันธภาพที่มีร่วมกันในการเล่นรูปแบบหนึ่ง, “จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครู: การพัฒนารายวิชาในแนวทางการศึกษาฐานสมรรถนะสู่การเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญา” (จิรวุฒิ พงษ์โสภณ และคณะ) เป็นการบ่มเพาะครูบนแนวทางการศึกษาฐานสมรรถนะ, “ประสบการณ์: ปัญญาปฏิบัติของเยาวชนเพศหลากหลาย” (สุมาลี โตกทอง) ชวนสัมผัสจิตวิญญาณเสรี ในท่ามกลางกลุ่มเพศหลากหลายที่ถูกสังคมเบียดขับ, “การวิจัยและพัฒนากระบวนการนำเสนอจิตตปัญญาศึกษาสู่สาธารณะทางสื่อสังคมออนไลน์” (เลิศศิริ สมบูรณ์ทรัพย์ และคณะ) การพัฒนางานสื่อสังคมเพื่อเผยแพร่การศึกษาที่กลับเข้ามาเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายในตนเอง, “สุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพ: วงจรชีวิตในการเรียนรู้เพื่อสันติ” (เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และคณะ), “ปรัชญาสันติภาพสุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพ” (เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช), “การศึกษาเพื่อสันติภาพกับสุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพ” (รัฐวิศว์ เอื้อประชานนท์ และคณะ), “สันติวัฒนธรรม” (เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และคณะ), “สันติทวิกวาร/สันติภาพในชีวิตประจำวัน: บทเรียนจากนานาชาติ” (งามศุกร์ รัตนเสถียร) และ “มรณสันติ” (ศศิธร มารัตน์) การสร้างสันติภาพของโลกที่เชื่อมโยงกับสันติภาพของตนเอง ผ่านการเรียนรู้ที่ถูกร้อยเรียงตั้งแต่เกิดจนตาย


เมื่อจิตวิญญาณเปิดกว้างและต้อนรับทุกสิ่ง จึงเห็นความเชื่อมโยงในวิถีชีวิตของมนุษย์และธรรมชาติ เกิดความเคารพ และความรู้สึกขอบคุณต่อทุกสิ่ง ผ่านเรื่องเล่าในบทความ ได้แก่ “มนุษย์ ธรรมชาติ และสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนชายขอบจากงานวิจัยไทบ้าน” (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ) เรื่องเล่าของวิถีชีวิตคนชายขอบที่มีความเคารพลึกซึ้งต่อธรรมชาติ และกำลังเลือนหายไปบนกระแสทุนนิยม และ “สุขภาวะทางจิตวิญญาณในฐานะการบูรณาการ และบทบาทการสร้างแรงบันดาลใจด้านอาหารให้แก่เยาวชน” (วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด และคณะ) การมองอาหารอย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณที่ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และผู้คน ประหนึ่งเห็นจักรวาลในชามข้าว


หนังสือเล่มนี้กำลังเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความหมายของจิตวิญญาณที่ดำรงอยู่ในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ครอบครัว สังคม และธรรมชาติ ความหมายของจิตวิญญาณจะปรากฏขึ้นเมื่อผู้อ่านมองสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง มีสติรู้เท่าทันความคิดของตนเอง และไม่ด่วนตัดสินด้วยอคติ คำแนะนำในการอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่มีสิ่งใดมากไปกว่าการเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้เขียน รวมถึงทุกชีวิตที่อยู่ในบทความ อาจมีทั้งด้านมืด สว่าง และคลุมเครือ ไม่ต่างอันใดกับมนุษย์ทั่วไป ในนามของผู้จัดและผู้เขียนบทความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือรวมบทความชิ้นนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้มีโอกาสทบทวนชีวิต เกิดข้อค้นพบ เห็นความหมายหรือคุณค่าบางอย่างในตนเอง เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อันนำไปสู่ความสว่างขึ้นภายในจิตใจ หรือมีสุขภาวะทางปัญญาได้ตามเหตุและปัจจัย ขอให้เป็นคุณูปการของจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่เหนือตัวตน


หากหนังสือเล่มนี้ มีความผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย


Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page